--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2558

เศรษฐกิจในกัมพูชา....!!?

โดย ณกฤช เศวตนันท์

กัมพูชา เป็นประเทศหนึ่งในจำนวนสมาชิกของกลุ่มประเทศอาเซียน โดยมี กรุงพนมเปญ เป็นเมืองหลวง และเป็น ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ อาชีพหลักของชาวกัมพูชา คือเกษตรกรรม

ปัจจุบันกัมพูชาได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสังคมนิยม เป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันคือ สมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี ขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2547 และมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำประเทศ คือ สมเด็จฮุน เซน

หลังจากเปิดประเทศ ทำให้กัมพูชาต้องบูรณะประเทศขึ้นใหม่ในเกือบทุกด้าน ดังนั้นจึงทำให้ประชากรภายในประเทศเกิดความต้องการสินค้าด้านต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก จากการที่กัมพูชามีความจำเป็นต้องพัฒนาประเทศโดยเฉพาะทางเศรษฐกิจดังกล่าว จึงได้ออก นโยบายส่งเสริมด้านการลงทุน ให้ต่างชาติหันเข้ามาลงทุนในกัมพูชามากขึ้น

สำหรับบทความนี้จะกล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจในกัมพูชา ซึ่งจากสถานการณ์เศรษฐกิจในปี 2557 การเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ (GDP) ของกัมพูชา มีการขยายตัวอยู่ที่ระดับ 7% จากปี 2556 ที่มีการขยายทางด้านเศรษฐกิจในระดับที่ 7.2% ซึ่งถือว่าการเติบโตในปี 2557 มีการขยายตัวใน ระดับปานกลาง แต่การขยายตัวลดลงกว่าปี 2556 สาเหตุมาจากปัญหาความตึงเครียดทางการเมือง ตั้งแต่มีการเลือกตั้งในปี 2556 เดือนกรกฎาคม อีกทั้งเกิดการเรียกร้องให้เพิ่มค่าจ้างแรงงานของคนงาน ทำให้นักลงทุนชาวต่างชาติขาดความเชื่อมั่นในการลงทุน ส่งผลให้เป็นอุปสรรคต่อการผลิตเสื้อผ้ากับรองเท้าตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปี 2557 และยังทำให้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจของกัมพูชา มีอัตราการเติบโตล่าช้า

ในปี 2557 มูลค่าการค้าต่างประเทศของกัมพูชาอยู่ที่ 1.81 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมปี 2556 ที่มีมูลค่าการค้าต่างประเทศอยู่ที่ 1.59 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นจึงมีมูลค่าการค้าต่างประเทศเพิ่มขึ้นถึง 13% สำหรับการส่งออกสินค้าของกัมพูชามีมูลค่าจำนวน 7.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมปี 2556 ที่มีมูลค่าการส่งออกจำนวน 6.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยคิดเป็น 80% ของการส่งออกทั้งหมด

สำหรับการนำเข้าสินค้าของกัมพูชาในปี 2557 มีมูลค่าจำนวนทั้งหมดประมาณ 1.04 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมในปี 2556 ที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าจำนวนทั้งหมดประมาณ 9 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ เสื้อผ้า ปิโตรเลียม รถยนต์กับจักรยาน วัสดุก่อสร้าง อาหาร และเภสัชภัณฑ์

ขณะที่สภาพเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา ประเทศในสหภาพยุโรป หรือในไทยก็ดี มีการฟื้นตัว น่าจะส่งผลให้ "การส่งออก" ของกัมพูชา มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรม อาทิ การผลิตและการก่อสร้าง คาดว่าน่าจะมีการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ประมาณ 9.7% ส่วนภาคการท่องเที่ยว เกิดการชะลอตัวในหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากสาเหตุความไม่สงบทางการเมือง ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวของปี 2556 มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มมาเพียงเล็กน้อย แต่เมื่อปัญหาทางด้านการเมืองของกัมพูชาคลี่คลายลง จึงมีการคาดการณ์ว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว

รัฐบาลกัมพูชาเองให้การส่งเสริมการลงทุนในภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศ อาทิ สาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐาน และการศึกษา รวมทั้งกิจกรรมการผลิต-ส่งออก ที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ การส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลกัมพูชาสามารถดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในกัมพูชาได้เป็นจำนวนมาก

เพราะกัมพูชามีต้นทุนค่าจ้างแรงงานต่ำ และมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติอยู่มาก ส่วนธุรกิจที่นักลงทุนต่างชาติ ต่างให้ความสนใจเป็นพิเศษ อาทิ ธุรกิจเสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นธุรกิจดาวเด่นที่นักลงทุนส่วนใหญ่จะเข้ามาลงทุนในกัมพูชาอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ยังมีธุรกิจแปรรูปสินค้าเกษตร ก็สามารถสร้างเม็ดเงินให้แก่กัมพูชาได้อย่างงาม

นักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในกัมพูชา ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่อยู่ในแถบเอเชีย เพราะมีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศฉันเพื่อนบ้านมาอย่างยาวนาน และให้การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ได้แก่ จีน เวียดนาม ไทย สำหรับนักลงทุนไทยนั้นจะอาศัยความได้เปรียบในเรื่องของประสบการณ์ทางด้านทรัพยากร และความเชี่ยวชาญในการทำธุรกิจ เข้าไปลงทุนในกัมพูชา โดยธุรกิจหลักที่นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุน อาทิ ธุรกิจการเกษตรและการแปรรูป ธุรกิจตัดเย็บเสื้อผ้า และธุรกิจการท่องเที่ยว

สำหรับภาพรวมทางด้านเศรษฐกิจของกัมพูชา มีทิศทางไปในทางที่ดีขึ้น

อาทิ มูลค่าการส่งออกในปี 2557 มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจากปีที่ผ่านมา ถึงแม้การเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ (GDP) ในปี 2557 มีอัตราการเติบโตที่น้อยกว่าปีที่ผ่านมาแค่เพียงเล็กน้อย แต่ก็ไม่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ เนื่องจากปัญหาทางการเมืองของกัมพูชาสงบลง อีกทั้งสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าก็มีการขยายการเติบโต ทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และไทย ส่งผลให้กัมพูชาได้รับอานิสงส์ มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจไปด้วยในปีนี้ ซึ่งคาดว่าน่าจะโตถึงร้อยละ 7.3%

หากกล่าวถึงอุปสรรคของการทำธุรกิจและการลงทุนในกัมพูชาแล้ว ต้องบอกว่ากัมพูชาเป็นประเทศหนึ่งที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก และถือเป็นประเทศที่ยังไม่มีความพร้อมในการรองรับภาคบริการ อย่างไรก็ดี การเปิดประเทศของกัมพูชาค้าขายกับเพื่อนบ้าน และมีการปกครองเป็นประชาธิปไตย ทำให้กัมพูชาได้เชื่อมโยงทางด้านธุรกิจกับต่างประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งในอนาคตอันใกล้อาจทำให้กัมพูชามีความต้องการการลงทุนในภาคบริการเพิ่มมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////